Rocket Media Lab เปิดโผ! เพลงฮ...
ReadyPlanet.com


Rocket Media Lab เปิดโผ! เพลงฮิตไทยในปี 2022 พูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน


  Rocket Media Lab เปิดโผ! เพลงฮิตไทยในปี 2022 พูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

 

อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่ง ฮิตติดชาร์ต อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่งที่เปิดในผับบาร์ขึ้นมาทีไร ไม่ว่าเพลงนั้นจะเก่าจะใหม่แค่ไหน แต่ก็จะมีคนตะโกนร้องไปพร้อมกัน อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่งมีคนฟังแล้วร้องไห้ มีคนฟังแล้วยิ้มตาม หรือแม้กระทั่งฟังแล้วอยากส่งให้อีกคนได้ฟัง มันเป็นเพราะเราแชร์อารมณ์บางอย่างที่อยู่ในเพลงนั้นร่วมกันรึเปล่า และอารมณ์แบบไหนล่ะที่คนส่วนมากแชร์ร่วมกันผ่านบทเพลง จนทำให้เพลงนั้นฮิตติดชาร์ตเป็นที่สนใจของคนหมู่มาก มันอาจจะเป็นอารมณ์ร่วมที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือบางทีก็อาจจะเป็นอารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัย 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจเพลงไทยยอดนิยมในปี 2022 ที่ได้รับการจัดอันดับจาก YouTube Music เพื่อดูว่าในช่วงปีที่ผ่านมาความรัก ความสัมพันธ์ หรือรูปแบบอารมณ์แบบใดซ่อนอยู่ในบทเพลงที่เราแชร์ร่วมกัน จนทำให้เพลงๆ นั้นกลายเป็นเพลงดังแห่งยุคสมัย

เพลงฮิตไทยพูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

รายงานชิ้นนี้สำรวจจากเพลงฮิตที่จัดอันดับโดย YouTube Music ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงเพลง ที่รวบรวมเพลงและมิวสิควิดีโอจาก YouTube ซึ่งในปี 2022 เป็นแพลตฟอร์มที่มีคนไทยใช้กว่า 42.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 61.1% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยเลือกสำรวจอันดับเพลงฮิตประจำปี 2022 ใน 5 ประเภทเพลย์ลิสต์ รวมทั้งหมด 260 เพลง ได้แก่

  • Thai Pop Hits 2022 : เพลงป็อป จำนวน 50 เพลง
  • Thai Rock Hits 2022 : เพลงร็อก จำนวน 55 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงป๊อป 1 เพลง)
  • Thai Hip Hop Hits 2022 : เพลงฮิปฮอป จำนวน 53 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงร็อก 1 เพลง ลูกทุ่ง 1 เพลง)
  • Thai Indie Hits 2022 : เพลงอินดี้ จำนวน 55 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงป๊อป 1 เพลง)
  • Lukthung Hits 2022 : เพลงลูกทุ่ง จำนวน 47 เพลง (ตัดเพลงซ้ำที่เป็นเพลงคัฟเวอร์หรือเพลงที่นำมาร้องใหม่ 2 เพลง)

จาก 260 เพลง ที่นำมาสำรวจ ในจำนวนนี้มีเพลงที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ 28 เพลง จึงเหลือเฉพาะเพลงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลงที่นำมาใช้ในการสำรวจในรายงานชิ้นนี้ 

พื้นที่ทางเพศบนเพลงฮิตรวม : ความสัมพันธ์ที่มีผู้ชายเป็นคนเล่าเรื่อง

เพลงติดอันดับยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ทั้งหมด 232 เพลงเป็นผลงานจากศิลปินเดี่ยว 117 คน ศิลปินคู่ 12 คู่ ศิลปินกลุ่ม 48 วง และศิลปินที่ร่วมร้อง (Feat.) 42 คน รวมทั้งหมด 387 คน โดยไม่นับศิลปินซ้ำ ซึ่งเมื่อนำมาแยกเป็นสัดส่วนชาย หญิง และ LGBTQIAN+ จะได้ ดังนี้

  • ศิลปินชาย 338 คน (87.34%)
  • ศิลปินหญิง 46 คน (11.89%)
  • ศิลปิน LGBTQIAN+ 3 คน (0.78%) 

เมื่อนำเพลงฮิต 232 เพลงมาแบ่งโดยใช้เพศของศิลปินที่ขับร้องเป็นตัวตั้ง จะมีสัดส่วน ดังนี้

  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชาย 176 เพลง (75.8%)
  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินหญิง 51 เพลง (21.9%)
  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปิน LGBTQIAN+ 5 เพลง (2.1%)

เรียกได้ว่าพื้นที่ในเพลงฮิตยังเป็นพื้นที่ที่ศิลปินชายมีสัดส่วนที่มากกว่าศิลปินหญิงอย่างเห็นได้ชัด และมีศิลปิน LGBTQIAN+ เพียง 3 คนเท่านั้นที่มีเพลงติดอันดับในการจัดอันดับเพลงฮิตของ YouTube Music ในปี 2022 ในครั้งนี้ ได้แก่ พัด-สุทธิภัทร สุทธิวาณิช (Zweed n" Roll), เขื่อน ภัทรดนัย และ แอนท์-มนัสนันท์ กิ่งเกษม (LANDOKMAI) และเมื่อสำรวจเพลงฮิตโดยแบ่งตามเพศของศิลปิน ก็ยังพบว่าเพลงฮิตเกือบทั้งหมดมาจากมุมมองของ ศิลปินชาย ในการเล่าเรื่องและถ่ายทอดอารมณ์ในความสัมพันธ์ โดยอารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชายมากที่สุด คืออารมณ์ ตัดพ้อ (26.14%) ส่วนในศิลปินหญิงจะพบอารมณ์ แอบรัก และ ตัดพ้อ มากที่สุดในสัดส่วนที่เท่ากัน (7.3%) และในศิลปิน LGBTQIAN+ ที่พบจำนวน 5 เพลง ได้แก่ อารมณ์ รัก – ​เพลง "ก่อนนอน" (Uncle Ben feat. แอนท์ LANDOKMAI), ‘ตัดพ้อ’ – "โลกใบเก่า" (Zweed n" Roll), คิดถึง – "Tsuki" (LANDOKMAI), ถูกทิ้ง – "ช่วงเวลา" (พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, Zweed n" Roll) และ แอบรัก – "หากเธอเคยรักใคร" (Waii, เขื่อน)

ไม่ว่ายุคไหนๆ คนไทยก็ยังคิดถึงแฟนเก่า 

จากเพลงฮิต 260 เพลงในปี 2022 เมื่อนำเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลง นำมาจัดรูปแบบสถานะความสัมพันธ์ของตัวละครที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อหาของบทเพลง จะสามารถแบ่งได้ 8 สถานะ ดังนี้

  • คนรักเก่า (เคยรักกัน/จากไป/แยกทาง/โดนทิ้ง/ลาจาก) – 35.3% 
  • คนรัก (ข้างกัน/รัก/มีเธอ/ที่รัก) – 33.1% 
  • คนที่ตัวเองแอบรัก (อยากรู้จัก/หวั่นไหว/ถูกใจ/แรกเจอ) – 18.9% 
  • ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด (คืนนี้/แก้เบื่อ/fun) – 3.8% 
  • เฟรนด์โซน (เพื่อน) – 2.5%
  • คนคุย (ตอบแชท/คุยกัน) – 2.5%
  • นอกใจ (แฟนคนอื่น) – 1.7%
  • โสด (ฉัน/ตัวเอง) – 1.7%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเพลงฮิตส่วนใหญ่ของไทยในปี 2022 เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง คนรักเก่า มากที่สุด 82 เพลง (35.3%) โดยเป็นการพูดถึงด้วยอารมณ์ คิดถึง มากที่สุด 51 เพลง (61.4%) ซึ่งพบในกลุ่มเพลงอินดี้มากกว่าประเภทอื่น จำนวน 20 เพลง (39.2%) และพบในกลุ่มเพลง ฮิปฮอป รองลงมา จำนวน 10 เพลง (19.6%) ในจำนวนนี้มีเพลงที่ระบุว่าคิดถึงคนรักเก่าที่ทิ้งตนเองไปกว่า 39 เพลง (76.4%) ตัวอย่างเช่น “เพราะในวันที่เธอจากไป โลกหยุดชะงัก” – วิเศษ (MaxMillor) และมีเพียง 1 เพลงเท่านั้น (1.9%) ที่ระบุว่า ตัวเองเป็นคนทิ้งคนรักเก่า เอง ได้แก่ “อยากจะเห็นว่าเธอมีความสุข จะได้รู้ว่าฉันนั้นทำถูกที่ปล่อยมือของเธอ” – "แพ้ความอ่อนแอ" (Silly fools

 

อันดับสอง คือเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง คนรัก 77 เพลง (33.1%) ซึ่งเป็นการพูดถึงด้วยอารมณ์ ‘รัก’ มากที่สุด จำนวน 37 เพลง (48.6%) และพบในกลุ่มเพลง อินดี้ มากกว่าเพลงประเภทอื่นเช่นเดียวกัน จำนวน 12 เพลง (32.4%) และพบรองลงมาคือกลุ่มเพลงป็อป 9 เพลง (24.3%) แต่ปรากฏน้อยที่สุดในเพลงลูกทุ่ง ที่พบเพียง 2 เพลงเท่านั้น ได้แก่ เพลง "เนื้อคู่" (ลำเพลิน วงศกร, เบลล์ นิภาดา) และเพลง "หยุดเวลาไว้ตรงนี้ได้บ่" (ต่าย อรทัย

ตามมาด้วยอันดับสาม เพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง คนที่ตัวเองแอบรัก จำนวน 44 เพลง (18.9%) โดยถูกพูดถึงในอารมณ์ แอบรัก มากที่สุด 29 เพลง (65.9%) พบในเพลงป๊อปมากที่สุด 15 เพลง (51.7%) รองลงมาคือเพลงลูกทุ่ง จำนวน 7 เพลง (24.1%) ครึ่งหนึ่งของอารมณ์แอบรักนี้ (51.7%) เป็นการแอบรักคนรู้จัก หรือการเผลอใจให้คนที่เคยพบเจอกันหลายครั้งแล้ว เช่น เพลง "17" (Dept) ในท่อนที่ร้องว่า ไม่เคยคิดเลยว่าต้องมีใจให้คนที่ไม่เคยนึกถึง” และในเพลงที่เหลือ (48.2%) เป็นการแอบรักคนแปลกหน้าตั้งแต่แรกพบ เช่นเพลง "I JUST WANNA PEN FAN YOU DAI BOR ?" (สิงโต นำโชค)

ในสถานะความสัมพันธ์แบบคนที่ตัวเองแอบรัก นอกจากจะพบอารมณ์แอบรักแล้ว ยังพบอารมณ์ ตัดพ้อ มากถึง 14 เพลง (31.8%) โดยจะพบการตัดพ้อคนที่ตัวเองแอบรักในเพลงลูกทุ่งมากที่สุด (35.7%) รองลงมาในเพลงอินดี้ (28.5%) ตามด้วยเพลง ร็อก (21.4%) และพบน้อยที่สุดในเพลง ป๊อป (14.2%)

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือมีเพลงแอบรัก 6 เพลง (20.6%) ที่ระบุว่าจะ เปย์’ ของต่างๆ เพื่อให้ได้หัวใจคนที่แอบชอบมา มีตั้งแต่ เงิน บ้าน เพชรพลอย ชาเนล (แบรนด์) รถซูเปอร์คาร์ ไปจนถึงการให้เงินเป็นคริปโต จากเพลง "ทักครับ" (Lipta feat. GUYGEEGEE) ที่ออกมาในปี 2022 ซึ่งในปีเดียวกันนี้จากการรายงานของ Chainalysis บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน พบว่าประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 8 ประเทศที่มีการใช้งานคริปโตมากที่สุด เพลงนี้จึงไม่เพียงสะท้อนเพียงแค่ วิถีปฏิบัติ ในการ จีบ กันของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย แต่ยังสะท้อนให้เห็นรูปแบบของสังคมในยุคปัจจุบันที่เริ่มเปิดรับการใช้งานแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีไว้อีกด้วย

อันดับที่ 4 ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด พบจำนวน 9 เพลงจากเพลงทั้งหมด (3.8%) มีทั้งความสัมพันธ์แบบข้ามคืน (One Night Stand) หรือ ความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้โดยไม่ผูกมัด (Friend with Benefits) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ต้องการความรัก ในจำนวนนี้ปรากฏอารมณ์ ใคร่ มากที่สุด 6 เพลง (66.6%) โดยอารมณ์ใคร่ทุกเพลงล้วนอยู่ในกลุ่มเพลงฮิปฮอป เช่น “เพียงมองตาเธอก็รู้ดี มีแต่เราที่รู้กันว่าจะทำอย่างไรในคืนนี้ กลิ่นน้ำหอมเธอเย้ายวน บวกกับฟีโรโมนที่คลุ้งไกล ดึงดูดฉัน” – ฟีโรโมน (BlackHeart feat. 2TFLOW)

ถัดมาที่สถานะความสัมพันธ์แบบ เฟรนด์โซน พบเพลงที่พูดถึงสถานะนี้ จำนวน 6 เพลง (2.5%) เป็นสถานะของเพื่อนที่แอบรักเพื่อน แต่ยังไม่สามารถข้ามเส้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นมากกว่าเพื่อนได้ มักอยู่ในเพลงป๊อปเป็นส่วนใหญ่ พบ 4 เพลง (66.6%) อยู่ในเพลง ร็อค และเพลง ลูกทุ่ง รองลงมา อย่างละ 1 เพลง (33.3%) ครึ่งหนึ่งของเพลงในสถานะเฟรนด์โซนนี้เป็นอารมณ์ แอบรัก เช่น เพลง "เป็นได้ทุกอย่าง" (UrboyTJ) ที่บอกว่า “อยากให้เป็นมากกว่านั้น งั้นต้องเป็นแฟนกันแล้วปะ เป็นให้เธอได้นะก็ฉันเป็นได้ทุกอย่าง” ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความสุขกับสถานะเฟรนด์โซนเสมอไป โดยอีกครึ่งของสถานะนี้เป็นอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ เพราะแม้จะทำทุกอย่างแล้วแต่ก็ยังไม่ได้คบกันเช่นเพลง "เกินปุยมุ้ย" (เอ้ย จิรัช) ที่บอกว่า “เป็นให้เธอทุกอย่างแล้ว เธอไม่เคยมีฉันบ้างเลยหรือเธอ”

อันดับที่ 6 คือเพลงที่มีเนื้อหาความสัมพันธ์แบบ คนคุย มีจำนวน 6 เพลง (2.5%) ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่ระหว่างเรียนรู้กันและกันก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นคนรัก โดยพบอารมณ์ แอบรัก และ กังวล อย่างละ 2 เพลงเท่ากัน (33.3%) ซึ่งอารมณ์กังวลนั้น เป็นการกังวลเพราะตัวเองยังไม่กล้าเปิดใจให้รักครั้งใหม่ และไม่มั่นใจว่าคนที่คุยอยู่จะรับได้ไหม ได้แก่ เพลง "ตลอดไปไม่มีจริง" (Mirrr feat. อ๊ะอาย 4EVE) และเพลง "ศรัทธาในรัก" (MAN’R)

ถึงกระนั้นก็ยังพบความสัมพันธ์ในลักษณะ นอกใจ ปรากฏอยู่บ้าง จำนวน 4 เพลง (1.72%) ส่วนใหญ่เป็นอารมณ์ ใคร่ (75%) พบในกลุ่มเพลงฮิปฮอปทั้งหมด แต่มักอยู่ในลักษณะเกทับ ก่นด่าด้วยคำหยาบคาย มากกว่าจะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างจริงจัง

สุดท้ายเพลงที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ในสถานะ โสด เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของเพลง เป็นการพูดคุยกับตนเอง ไม่พบการกล่าวถึงตัวละครอื่น พบในอารมณ์ รอวันที่จะได้เจอความรัก มากที่สุด (50%) ส่วนอีก 2 อารมณ์ที่พบได้แก่ ตัดพ้อ และ กลับมารักตัวเอง 

บทสรุป : ความสัมพันธ์เปลี่ยนแต่ค่านิยมยังไม่เปลี่ยน

จากการสำรวจเพลงฮิตที่จัดอันดับโดย YouTube Music ในปี 2022 ทั้งหมด 260 เพลง จะเห็นได้ว่า มีเนื้อหาที่กล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายสอดคล้องไปกับภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เช่น รูปแบบความสัมพันธ์แบบเฟรนด์โซน Friends With Benefits คนคุย หรือแม้แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ของ LGBTQIAN+ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของกระแสสังคมที่มีต่อการถ่ายทอดเรื่องราว เนื้อหา ในอุตสาหกรรมดนตรี

แม้ว่าเราจะพบการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสถานะรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาลงไปก็จะพบว่าในความเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงแฝงไปด้วยค่านิยมแบบเดิมที่มีกรอบตายตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อปที่รูปแบบความสัมพันธ์จำกัดอยู่เพียงแค่ความรักแบบคู่รักเท่านั้น โดยอาจเป็นเพราะว่าเพลงป๊อปมีความเป็นเพลงกระแสหลักของสังคมมาแต่ไหนแต่ไร มีกลุ่มผู้ฟังที่กว้างซึ่งอาจจะรวมถึงเด็กและเยาวชนอีกด้วย และได้รับความนิยมในคนหมู่มาก เพลงป็อปจึงมักจะถูกสร้างด้วยเนื้อหาที่ ‘ใส’ มากกว่าหมวดหมู่อื่นๆ และเมื่อเป็นการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์แบบคู่รักจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ใส’ ที่สุด ที่เหมาะสมจะอยู่ในเพลงป๊อป

นอกจากนี้ในเพลงฮิปฮอป ยังเป็นเพลงแนวเดียวที่ปรากฏอารมณ์ใคร่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์ ยาเสพติด และมีการใช้คำหยาบคาย อันกลายเป็นลักษณะเฉพาะของฮิปฮอปไปแล้ว เช่นเดียวกันกับเพลงลูกทุ่ง ที่แม้จะมีการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็มีกรอบอันเป็นลักษณะเฉพาะของตนเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ในลักษณะการตัดพ้อ ที่ยึดโยงไปยังรูปลักษณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบของเพลงลูกทุ่งที่พบได้มาแต่ไหนแต่ไร

ไม่เพียงแค่เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในบทเพลงที่ยังคงแฝงไปด้วยค่านิยมที่ตายตัวและติดอยู่ในกรอบของหมวดหมู่เพลงนั้นๆ รายละเอียดที่ปรากฏในเพลงก็ยังทำให้เห็นค่านิยมที่มีกรอบตายตัวเช่นเดียวกัน เช่น เพลงฮิตที่ระบุสเปกถึงหุ่นทุกเพลงล้วนมาจากศิลปินชาย และไม่พบเพลงของศิลปินหญิงที่ระบุหุ่นของคนที่ชอบเลย ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงสเปกด้านนิสัยก็ล้วนมาจากเพลงของศิลปินหญิง และไม่พบศิลปินชายที่ระบุสเปกคนที่ชอบด้วยนิสัยเลย หรือแม้แต่การบรรยายสเปกของผู้ชายในบทเพลงที่ให้คุณค่ากับความสวย ก็ยังคงเป็นความสวยในแบบพิมพ์นิยมด้วยกรอบค่านิยมที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง 

อ้างอิงเพลงฮิต 2022



ผู้ตั้งกระทู้ asd :: วันที่ลงประกาศ 2023-02-14 09:18:24


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.