ค่าเงินบาทวันนี้ 19 เม.ย. 66 เ...
ReadyPlanet.com


ค่าเงินบาทวันนี้ 19 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว


 ค่าเงินบาทวันนี้ 19 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว

 

ค่าเงินบาทไทยวันนี้ 19 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทไทยวันนี้ เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทำให้โดยรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทมีลักษณะผันผวนในกรอบ Sideways ทว่าในวันนี้ประเมินว่า เงินบาทก็มีโอกาสเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง เนื่องจากความสนใจของผู้เล่นในตลาดจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของฝั่งยุโรปในช่วงบ่าย

โดยประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ของทั้งอังกฤษและยูโรโซน ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง ก็อาจจะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า ทั้ง BOE และ ECB อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีกราว 1-2 ครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง และอาจช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน (ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์) ทั้งนี้ประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เนื่องจากในช่วงนี้ก็ยังมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังเป็นฝั่งขายสุทธิอยู่ ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทนั้น อาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงนี้คงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้มองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น รายงานผลประกอบการของ Goldman Sachs -1.7% ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง Johnson & Johnson -2.8% ที่แม้จะรายงานผลกำไรดีกว่าคาด แต่ทางบริษัทก็แสดงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาดเพียง +0.09% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอจับตารายงานผลประกอบการและรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.38% หนุนโดยการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +1.8%, Dior +0.7%) ที่ได้รับอานิสงส์จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนที่ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน เพื่อปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามรายงานข้อมูลตลาดบ้านที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่จะย่อตัวลงในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ) แต่โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 101.7 จุด ซึ่งมองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงิน (เปิดรับความเสี่ยง หรือ ปิดรับความเสี่ยง) โดยจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ความผันผวนของเงินดอลลาร์ก็ส่งผลกระทบให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน โดยมีจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก่อนที่จะได้แรงซื้อในจังหวะย่อตัวและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,018 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของฝั่งยุโรป ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ และ ยูโรโซน โดย แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร จะชะลอตัวลงต่อเนื่องแตะระดับ 5.7% (ยูโรโซน) และ 6.0% (อังกฤษ) แต่ระดับดังกล่าวก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารอังกฤษ (BOE) เป็นอย่างมาก ทำให้คงมองว่า ทั้ง ECB และ BOE ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ต่ออีกราว 1-2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งนอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้งสองธนาคารกลางหลักต่อไป

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

อ้างอิงข่าวเศรษฐกิจ



ผู้ตั้งกระทู้ asd :: วันที่ลงประกาศ 2023-04-20 21:06:58


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.